30 อาหารที่ไม่ควรเก็บในตู้เย็น

หลายคนอาจเข้าใจว่าการแช่อาหารในตู้เย็นคือการช่วยยืดอายุการจัดเก็บอาหารทุกสิ่งอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหารสดและพืชผักผลไม้ เนย นม ซึ่งเราจะมาดูกันว่า ที่ผ่านมาเราเข้าใจกันถูกแล้วจริงหรือไม่  แล้วบางครั้งจึงเกิดคำถามว่า “ทำไมเป็นเช่นนี้” เมื่อพบว่ามันมีบางสิ่งเกิดขึ้นจนน่าตกใจ หลังจากที่เราเปิดตู้เย็นออกมา!

admin ได้รวบรวมจาก foodworldblog เพื่อให้ ผู้อ่านสามารถเปิดอ่านได้ สะดวกยิ่งขึ้น หวังว่า จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพิจารณาสถานที่จัดเก็บที่เหมาะสมสำหรับสินค้าทางการเกษตร เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายกับ วัตถุดิบ

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก foodworldblog ด้วยค่ะ

1. แตงโม

แตงโมนิยมทานตอนเย็นๆ เพื่อความสดชื่น แต่อย่าลืมว่าแตงโมนั้นมีน้ำเป็นส่วนประกอบมาก การนำแตงโมทั้งผลใหญ่ไปแช่ตู้เย็น หรือที่เย็นเกินไป จะทำให้น้ำในผลแตงโมมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นกว่าการเก็บรักษาแตงโมที่อุณหภูมิห้อง  ส่งผลให้โมเลกุลของน้ำเบียดกันและทำลายเนื้อเยื่อของแตงโม ทำให้เนื้อช้ำ เละ ไม่น่ารับประทาน หรือถ้าตู้เย็นที่มีความเย็นมากๆ ผลแตงโมอาจจะปริแตกได้ด้วย นอกจากนี้หลังการเก็บเกี่ยวสารต้านอนุมูลอิสระยังถูกผลิตขึ้นเรื่อยๆในเนื้อแตงโมที่สภาวะอุณหภูมิห้อง แต่ถ้านำไปใส่ตู้เย็นก็จะผลิตได้น้อยลง ดังนั้นหากอยากทานแตงโมเย็นๆ แนะนำให้หั่นแค่พอทานแล้วแช่ตู้เย็นก่อนสักครู่ แค่นี้ก็ได้แตงโมหวานเย็น ชื่นใจแล้ว

2. น้ำผึ้ง

น้ำผึ้งสุดยอดอาหารจากธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาในตู้เย็น เพราะในที่อุณหภูมิต่ำมากเกินไป น้ำผึ้งจะเกิดการสร้างผลึกน้ำตาลทำให้เนื้อสัมผัสเปลี่ยนไป ทั้งๆที่จริงแล้วเราสามารถเก็บน้ำผึ้งไว้ในภาชนะที่สะอาด ปิดให้สนิท หลีกเลี่ยงแสงแดดโดยตรงก็เพียงพอแล้ว เพราะน้ำผึ้งมีคุณสมบัติค่อนข้างเป็นกรด มีปริมาณน้ำเป็นส่วนประกอบน้อย อีกทั้งมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้ไม่เหมาะต่อการเจริญของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดการเน่าเสีย อีกทั้งเอนไซม์จากธรรมชาติที่มีอยู่ในน้ำผึ้งยังมีฤทธิ์ในการทำลายเซลล์ของพวกแบคทีเรียและเชื้อราอีกด้วย

3. กาแฟ

กาแฟคั่วบดหรือเมล็ดกาแฟคั่วที่มีความแห้ง ทำให้สามารถดูดความชื้นเข้ามาในตัวเองได้ดี ถึงแม้เราจะเก็บใส่ภาชนะที่บรรจุสนิทแล้วก็ตาม แต่การเปิด-ปิด ก็สามารถส่งผลเกิดความชื้น และเป็นต้นเหตุของเชื้อราตามมา และนอกจากจะดูดความชื้นแล้ว ยังสามารถดูดกลิ่นต่างๆจากตู้เย็นซึ่งเป็นแหล่งรวมของอาหารนานาชนิดเข้ามาในตัวอีก คราวนี้กลิ่นหอมกรุ่นของกาแฟก็สูญเสียไป และมีกลิ่นที่ไม่น่าดื่มอีกด้วย ดังนั้นควรเก็บรักษากาแฟในที่แห้งสนิท อากาศเข้าไม่ได้ หรือใส่สารดูดความชื้นไว้ โดยไม่จำเป็นต้องเก็บกาแฟไว้ในตู้เย็นก็ได้

4. ฟักทอง

เมื่อนำฟักทองไปเก็บไว้ในตู้เย็น นอกจากรสชาติเปลี่ยนไปและเนื้อสัมผัสที่แข็งเหี่ยวแล้ว ฟักทองจะเกิดการเน่าเสียได้ง่ายและรวดเร็ว เนื่องจากความชื้นเป็นสิ่งที่เจ้าเชื้อราชื่นชอบ  ยิ่งถ้าเป็นฟักทองที่ถูกหั่นไปแล้ว หรือฟักทองที่ผิวมีแผลยิ่งทำให้เสียง่าย ดังนั้นเราสามารถเก็บฟักทองในอุณหภูมิห้อง แต่ต้องมีความแห้ง ปราศจากความชื้น และถ้าถูกหั่นไปทานแล้ว ก็ควรทำส่วนที่เหลือให้สุกแล้วแช่เย็นเพื่อเก็บรักษาจะดีกว่า

5. หอมหัวใหญ่

หากนำหอมหัวใหญ่ไปแช่ในตู้เย็น จะทำให้เน่าเสียได้ง่าย เพราะความชื้นเป็นของชื่นชอบของเชื้อรา  และนอกจากนั้นเนื้อของหอมหัวใหญ่จะเหี่ยวและไม่กรอบเหมือนใหม่ด้วย เพียงแค่เก็บหอมหัวใหญ่ไว้ในที่แห้ง สามารถถ่ายเทอากาศได้ ไม่ทำให้เกิดการอับชื้นหรือเกิดเป็นไอน้ำและพ้นแสง แค่นี้ก็เก็บรักษาได้นานแล้ว!

6. นูเทลล่า

นูเทลล่า หรือ เฮเซลนัทบดผสมโกโก้นี้เป็นของชื่นชอบของเด็กๆหลายคน และยังเป็นเมนูมื้อเช้าในวันเร่งด่วนที่แสนอร่อยด้วย แต่การเก็บนูเทลล่าไว้ในตู้เย็น ทำให้เกิดการแข็งตัวของไขมันที่เป็นส่วนประกอบ ไม่น่ารับประทาน แยกชั้น และยังตักขึ้นมายาก รสชาติของโกโก้ก็เปลี่ยนไปด้วย เราสามารถเก็บนูเทลล่าไว้นอกตู้เย็นเพื่อให้มีเนื้อสัมผัสนุ่มนวลและง่ายต่อการรับประทานด้วย

7. น้ำมันมะกอก

ไม่น่าแปลกใจ เมื่อเรานำน้ำมันมะกอกที่เพิ่งซื้อมาใหม่ไปเก็บในตู้เย็น โดยตั้งใจว่าจะยืดอายุการเก็บรักษา ซึ่งผลที่ได้คือ เกิดการแข็งตัวของน้ำมัน ลักษณะเป็นไข เพราะน้ำมันมะกอกประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน เมื่ออุณหภูมิต่ำลง ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงพันธะเคมีในโครงสร้างแล้วเกิดเป็นไขขึ้น แต่ไม่ต้องตกใจให้เรานำน้ำมันออกมาวางในอุณหภูมิห้อง น้ำมันมะกอกก็จะกลับมาใสตามปกติ เราจึงไม่จำเป็นต้องแช่เย็นเจ้าน้ำมันมะกอกเหล่านี้

8. สมุนไพรสด

บางคนยังเข้าใจว่า การเก็บสมุนไพรสดต่างๆ ไว้ในตู้เย็น จะช่วยยืดอายุของสมุนไพรได้ แต่ในความจริงแล้วสมุนไพรสดควรเก็บรักษาโดยการนำก้านเสียบแช่น้ำไว้ นอกตู้เย็น ความสดใหม่ของสมุนไพรจะคงอยู่ได้จากน้ำที่ถูกลำเลียงผ่านท่อลำเลียงน้ำจากโคนไปสู่ใบจนถึงยอด แต่หากเป็นระยะเวลานานและยังไม่ได้นำสมุนไพรไปใช้ ควรนำสมุนไพรใส่กล่องปิดสนิท แล้วเก็บรักษาในตู้เย็น โดยต้องจัดวางอย่างหลวมๆ มีพื้นที่จัดวางในกล่อง โดยไม่ให้เกิดการกดทับจนเกิดการช้ำได้ ห้ามนำสมุนไพรวางไว้ในตู้เย็นโดยปราศจากภาชนะบรรจุ เพราะจะทำให้ใบช้ำและเหี่ยวได้รวดเร็วมาก

9. มะเขือเทศ

หากเรานำมะเขือเทศไปแช่ตู้เย็น จะเห็นผิวของมะเขือเทศเหี่ยวย่นและเนื้อสัมผัสไม่น่ารับประทานเลย มะเขือเทศที่สีสดใส ผิวชุ่มน้ำและเต่งตึงที่ถูกตกแต่งบนจานเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้อยากอาหารได้มากทีเดียว ทางที่ดีควรรีบรับประทานให้หมด และไม่ควรตุนไว้เยอะ

10. ซอสมะเขือเทศ

ไม่มีความจำเป็นเลยที่เราจะต้องนำซอสพวกนี้ไปเก็บรักษาในตู้เย็นเลย นอกจากจะเปลืองพื้นที่ในตู้เย็น แล้วยังทำให้เนื้อสัมผัสหนืดข้น ยากต่อการใช้งานและที่สำคัญ เมื่อเอาไปแช่เย็นแล้วเปิดออกมาเท ซอสมะเขือเทศของเราจะเสียง่ายกว่าวางทิ้งไว้นอกตู้เย็นอีกด้วย ซอสพวกนี้ผ่านกระบวนการหมักและมีการใช้ความร้อนในกระบวนการผลิต อัตราการเจริญของเชื้อไม่ดีก็มีน้อย และยังมีน้ำส้มสายชูที่ทำให้มีความเป็นกรดสูงจนแทบจะไม่มีเชื้อเจริญเติบโตได้เลย อีกทั้งไม่ต้องกังวลว่าเมื่อผ่านไปนานๆ แล้วยังรับประทานไม่หมดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือแยกชั้นของซอส เพราะในกระบวนการผลิตมักจะเติมสารเพื่อเพิ่มความคงตัวของซอสอยู่แล้ว

11. ทูน่า

สำหรับปลาทูน่ากระป๋อง เป็นการนำเนื้อปลามาผ่านกระบวนการผลิตที่มั่นใจว่าเป็นการถนอมอาหารวิธีหนึ่งอยู่แล้ว จึงสามารถเก็บรักษาทูน่ากระป๋องได้ในตู้กับข้าว หรือชั้นวางอาหารที่ปราศจากความชื้นและพ้นจากแสงแดด การนำทูน่ากระป๋องไปแช่เย็นยิ่งเป็นการเพิ่มความชื้น และกระตุ้นให้กระป๋องเกิดเป็นสนิม ซึ่งนั่นคืออันตรายมากด้วย

12. ขนมปัง

ขนมปังเป็นอาหารที่อายุการจัดเก็บสั้น การแก้ปัญหาคืออย่าซื้อมาตุนไว้เยอะ เพราะการที่เรานำขนมปังไปเก็บในตู้เย็น ทำให้เนื้อสัมผัสของขนมปังนุ่มๆของเรา แข็ง แห้ง หยาบกร้านมากขึ้น จนไม่น่ารับประทานเลย แต่ถ้ามีความจำเป็นจริงๆแนะนำว่าบรรจุขนมปังทีละแผ่นลงถุงซิป แล้วใส่ในช่องแช่แข็งไว้เลย

13. มันฝรั่ง

หัวมันฝรั่งอุดมไปด้วยสารอาหารและพร้อมที่จะเจริญเติบโตเป็นต้นทุกเมื่อ เพราะแหล่งพลังงานล้วนๆอยู่ที่หัวมันที่เราจะนำมาใช้เป็นอาหารนั่นเอง เมื่อเรานำมันฝรั่งไปแช่ตู้เย็น มันมักจะโผล่งอกออกมาเป็นรากเสมอ และส่งผลให้หัวมันฝรั่งเนื้อแน่นของเราเปลี่ยนแปลงไป ไม่น่ารับประทานและเปลือกข้างนอกเหี่ยว

14. แอปเปิ้ล

เราไม่จำเป็นต้องนำแอปเปิ้ลที่เราซื้อมาสดใหม่ เข้าไปใส่ตู้เย็นก็ได้ เพราะผลแอปเปิ้ลสามารถอยู่ได้ที่อุณหภูมิห้องได้หลายวัน เพราะเปลือกด้านนอกเป็นแวกซ์ช่วยป้องกันแบคทีเรียได้ แต่เพื่อป้องกันการสุกมากเกินไปควรห่อกระดาษทีละลูกแล้ววางไว้ในที่แห้ง พ้นแสงแดด ก็ไม่จำเป็นต้องแช่ตู้เย็นแล้ว แต่หลังจากนั้นสัก 1 สัปดาห์หากมีปริมาณเยอะมาก ก็ค่อยนำมาใส่ตู้เย็นได้ เพราะการแช่ตู้เย็นจะทำให้รสชาติและความหอมหวานลดลง

15. อะโวคาโด

ถ้าคุณรีบร้อนนำอะโวกาโดสีเขียวสดเข้าตู้เย็นเลย มันจะไม่สุกและไม่สามารถทานได้ เพราะเนื้อดิบและแข็ง ดังนั้นต้องวางอะโวคาโดวางไว้ข้างนอกตู้เย็นให้มันสุกเสียก่อน วางในที่แห้งและเย็น โดยเมื่อสุกแล้วสีเปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้มคล้ำ ขั้วเริ่มเป็นสีน้ำตาล นั่นแสดงว่ามีความนิ่ม สุก เนื้อมันชวนให้น่ารับประทานแล้ว คราวนี้จะทานมันเลยตอนนั้น หรือจะห่อกระดาษหรือพลาสติกแล้วเก็บเข้าตู้เย็นก็ทำได้

16. ซอสเผ็ด

เราจะเสียเวลาไปแช่ซอสเผ็ดในตู้เย็นทำไม ในเมื่อมันสามารถอยู่ในอุณหภูมิห้องปกติได้อายุยาวนาน แถมยังเสียเวลาที่ต้องมารอเจ้าซอสนี้ให้เหลวอีกด้วย เพราะเมื่อเอาไปตั้งไว้ในตู้เย็น เนื้อของซอสมักจะข้นหนืดขึ้น จะเทออกมาใช้งานก็ยาก อีกทั้งขวดซอสเผ็ดที่แช่เย็นแล้วถูกเปิดออกเมื่อต้องการใช้งาน ยังมีโอกาสที่เนื้อสัมผัสผิวหน้าของหน้าซอสจะมีหยดน้ำมาเกาะ เพราะความแตกต่างของความชื้นที่มีอยู่ในอากาศ ส่งผลให้เสื่อมสภาพง่ายและเกิดเป็นเชื้อราได้ ซอสพวกนี้มีน้ำส้มสายชูที่ทำให้มีความเป็นกรดสูงจนแทบจะไม่มีเชื้อเจริญเติบโตได้เลย จนไม่ต้องกังวลว่าเก็บนานๆแล้วจะเน่าเสียเพราะอายุการจัดเก็บยาวกันเป็นปีเลย

17. แตงกวาดอง

การหมักดองเป็นการถนอมอาหารวิธีหนึ่งอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องนำแตงกวาดองเข้าไปแช่ในตู้เย็นก็ได้ เพราะกระบวนการหมักด้วยน้ำส้มสายชู ช่วยรักษาสภาพของแตงกวาดองให้มีอายุยาว การนำอาหารหมักดองเข้าไปแช่ในตู้เย็น ยังมีส่วนให้แตงกวาดองของเราเสียได้เร็วกว่าการเก็บไว้ข้างนอกที่อุณหภูมิปกติ เพราะในขณะที่ภายในกระปุกแตงกวามีสภาวะที่ไม่เหมาะกับการเจริญของเชื้อ แต่ทว่าการเปิดฝากระปุกในขณะที่เย็นนั้น ทำให้เกิดปฏิกิริยาการควบแน่นของหยดน้ำบนผิวหน้าของอาหาร ทำให้มีปริมาณน้ำและสภาวะที่เจ้าเชื้อราชื่นชอบและเจริญได้ดี

18. กระเทียม

ห้ามเด็ดขาดที่จะนำกระเทียมไปแช่ไว้ในตู้เย็น เพราะมันจะเน่าเสียรวดเร็วมาก และด้วยความชื้นในตู้เย็น เจ้ากระเทียมของเราก็จะกลายเป็นงอกต้นอ่อนให้เราได้เชยชมอีกต่างหาก  สำหรับการเก็บกระเทียมต้องเก็บในสภาพแวดล้อมที่แห้ง ไม่อับชื้น อุณหภูมิไม่สูง กระเทียมถึงจะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น

19. กล้วย

เรามักจะเลือกซื้อกล้วยทั้งหวี มาในแบบห่ามหรือแบบที่ใกล้จะสุก เพราะถ้ายกมาทั้งหวีและเลือกแบบสุกงอมเต็มที่ มันอาจจะเน่าเสียและช้ำไปก่อนที่จะกินหมด ดังนั้นการเก็บรักษากล้วยที่ซื้อมา เพียงแค่เราวางไว้ที่อุณหภูมิห้องปกติ กล้วยจะผลิตแก๊สเอทิลีน แล้วค่อยๆทะยอยสุก แต่ถ้าเราเอากล้วยทั้งหมดที่ซื้อมาไปแช่ตู้เย็น และหวังว่ามันจะสุก คงจะต้องรอนานมากเพราะสภาวะที่ไม่เหมาะกับการผลิตแก๊สเอทิลีน อีกทั้งการนำกล้วยไปแช่ในตู้เย็นก็จะทำให้สีของเปลือกเป็นสีน้ำตาลคล้ำหรือสีดำ ซึ่งไม่น่ารับประทานเลย เป็นผลมาจากการทำปฏิกิริยาของสารประกอบฟีนอลที่เปลือกกล้วย

20. เครื่องเทศ

การเก็บรักษาเครื่องเทศต่างๆในตู้เย็น อาจไม่ใช่วิธีที่ดีนัก เพราะเครื่องเทศมีลักษณะเป็นของแห้ง หรือเป็นผง ซึ่งลักษณะแบบนี้เป็นนำไปแช่ในตู้เย็นจะดูดซับความชื้นและทำให้เกิดเชื้อราได้ง่ายกว่าการเก็บรักษานอกตู้เย็นในที่แห้งและไม่ร้อน  อีกทั้งการเก็บเครื่องเทศในตู้เย็นยังทำให้กลิ่นที่เป็นตัวหลักในการชูรสของเครื่องเทศเปลี่ยนแปลงไปด้วย

21. เมล่อน

การเก็บรักษาเมล่อนผลไม้สำหรับสุขภาพ เพื่อรักษาระดับของสารต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้งความนุ่ม หอมหวาน ฉ่ำของเนื้อเมล่อน ควรเก็บแบบวางไว้ข้างนอกตู้เย็นก่อน เพราะหลังจากการเก็บเกี่ยวเมื่อเวลาผ่านไปเมล่อนจากเนื้อกรอบๆ จะเริ่มสุกและมีความนุ่มของเนื้อภายใน รวมทั้งหอมและหวานฉ่ำมากขึ้นด้วย จึงไม่ควรแช่เมล่อนในตู้เย็นทันที

22. ถั่ว

หากอยากจะเก็บถั่วไว้ให้อยู่ได้นานๆ ควรเก็บใส่ภาชนะที่ปิดสนิทวางไว้ในที่แห้งและเย็น โดยไม่จำเป็นต้องแช่อยู่ในตู้เย็น เพราะถึงแม้ว่าอุณหภูมิความเย็นในตู้เย็นจะช่วยชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมันจากถั่ว ซึ่งทำให้เกิดการเหม็นหืนช้าและน้อยลง แต่ถั่วเมล็ดแห้งๆก็สามารถดูดซับความชื้นและกลิ่นต่างๆจากตู้เย็นได้ดี รวมทั้งไขมันในถั่วก็จะแข็งขึ้นเมื่ออยู่ในตู้เย็นจนทำให้ความกรอบ ความมันไม่อร่อยเหมือนเดิม

23. ผลไม้เมล็ดแข็ง

ผลไม้เมล็ดแข็ง หรือมีชื่อเรียกของผลไม้กลุ่มนี้ว่าพวก Stone fruit เพราะลักษณะทางกายภาพที่เมล็ดของเจ้าผลไม้กลุ่มนี้มีความแข็งมากๆ แต่เนื้อของผลไม้กลับแตกต่างเพราะเนื้อจะนุ่มมากเมื่อนำมารับประทาน ตัวอย่างเช่น เชอร์รี่ ลูกพลัม พีช แนคทารีน  เป็นต้น ผลไม้พวกนี้ไม่ควรนำไปแช่เก็บในตู้เย็นเพราะต้องใช้ระยะเวลาหลังการเก็บเกี่ยว โดยปล่อยทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องปกติ เพื่อให้เกิดการสุกของเนื้อผลไม้ หากนำไปแช่เย็นก็ยากที่จะสุก ไม่สามารถนำมากินได้สักที และเนื้อผลไม้ที่แช่เย็นก็จะมีความหอมและนุ่มนวลน้อยกว่าผลไม้ที่วางนอกตู้เย็น ให้เกิดการสุกตามธรรมชาติ

24. สมุนไพร

พืชสมุนไพรสดไม่แนะนำให้นำไปเก็บไว้ในตู้เย็นเลย เพราะความชื้นภายในตู้เย็นจะส่งผลให้เกิดการคายน้ำและใบของสมุนไพรก็จะเหี่ยวเฉา และเสียคุณภาพไป รวมทั้งสรรพคุณต่างๆของสมุนไพร ซึ่งฤทธิ์ของสมุนไพรส่วนใหญ่มาจากสารประกอบเฉพาะที่มีในพืช ได้แก่ วิตามิน แร่ธาตุ หรือสารต้านอนุมูลอิสระในสมุนไพร ถ้าสมุนไพรเหี่ยวเฉา การออกฤทธิ์ของสมุนไพรก็อาจลดลงไปด้วย

25. แอปริคอต

รสชาติหอมหวานจากธรรมชาติของแอปริคอต ใครได้ลองก็จะติดใจ แต่ทว่าการเก็บรักษาแอปริคอตให้มีรสชาติอร่อยเหมือนเดิม ไม่ควรเก็บในตู้เย็น เพราะผลของแอปริคอตค่อนข้างบอบบาง เมื่อแช่เย็นจะช้ำง่าย และเหี่ยวง่าย ความนุ่มและหอมเฉพาะตัวก็จะลดลง เราสามารถเก็บแอปริคอตโดยการวางไว้ข้างนอก ในที่มีอากาศถ่ายเท ไม่อับชื้น จะทำให้คงแอปริคอตผลสุกไว้ได้นานและอร่อยเหมือนเดิม

26. น้ำสลัด

สำหรับน้ำสลัดชนิดที่มีน้ำส้มสายชูเป็นส่วนผสม ไม่จำเป็นจะต้องเก็บรักษาโดยนำไปแช่ตู้เย็น เพราะความเป็นกรดของผลิตภัณฑ์เสมือนเป็นสารกันบูดอยู่แล้ว นอกจากน้ำส้มสายชูที่มักเป็นส่วนประกอบแล้ว สารที่เติมลงไปอย่างพวกเกลือ ส่งผลให้มีสภาวะที่ไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ถึงแม้ไม่แช่ตู้เย็นก็สามารถอยู่ได้นาน

27. ซีเรียล

ซีเรียลอบกรอบ เป็นของแห้งที่ค่อนข้าง มีความไวในการดูดซับความชื้น หากเราแช่ในตู้เย็นแล้วปิดไม่สนิท อาจทำให้ความกรอบอร่อยของซีเรียลหายไปเลย อีกทั้งรสชาติเดิมของซีเรียลก็จะมีกลิ่นอื่นๆ ปะปนมาด้วยในเวลาที่เราเอามารับประทาน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องแช่ตู้เย็น ซีเรียลของเราก็ยังกรอบอร่อยได้ แค่หาภาชนะบรรจุที่มีความแห้ง และสามารถปิดสนิท ไม่ให้อากาศเข้าไปได้ หรือจะเพิ่มซองของสารดูดความชื้นลงไปในภาชนะที่ใส่ซีเรียลก็ได้

28. เนยถั่ว

หากนำเนยถั่วไปแช่ในตู้เย็น จะทำให้เนยถั่วของเรามีเนื้อส้มผัสที่แข็งตัว ช่วงเวลารีบเร่งอยากจะตักเนยถั่วสัก 2 ช้อน ปาดลงในขนมปังสักแผ่น มันเป็นช่วงที่ยุ่งยากไปเลย เพราะเจ้าเนยถั่วที่แข็งติดกระปุกนี้เอง ดังนั้นไม่จำเป็นต้องใส่ในตู้เย็น ก็สามารถวางเนยถั่วกระปุกเล็กๆไว้ข้างนอก ในที่แห้งและไม่ชื้น เท่านี้เราก็จะได้มื้อเช้าที่ไม่ยุ่งยากแล้ว

29. ฟักทองเทศ

ฟักทองเทศเนื้อหวานมัน และยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ กลุ่มของฟักทองเทศมีหลายลักษณะ เช่น พวกบัตเตอร์นัท หรือ พวกฟักทองอะคอน สารสีเหลืองในเนื้อฟักทองพวกนี้คือ ลูทีน เป็นสารคำคัญและมีประโยชน์มาก การเก็บรักษาฟักทองพวกนี้ง่ายๆเลย เก็บจัดวางในภาชนะที่แห้งและไม่อับชื้น ไม่ถูกแสงแดดส่องถึงโดยตรง ดังนั้นไม่จำเป็นต้องแช่ในตู้เย็นเลย เพราะทำให้เสียรสชาติและเกิดเป็นเชื้อรา เน่าเสียง่ายกว่าเดิม  สังเกตได้ในแหล่งที่มีการวางขายฟักทองพวกนี้ ก็วางตามชั้นวางผักหรือผลไม้ อากาศถ่ายเทสะดวกและแห้ง เท่านั้นเอง

30. ขนมอบ

เหล่าขนมอบแสนอร่อยที่นอกจากหน้าตาจะถูกจัดแต่งให้น่ารับประทานแล้ว กลิ่นก็ช่างอบอวล ยั่วใจให้อยากเข้าลิ้มลอง  โดยทำจาก แป้ง นม เนย และ น้ำตาล นั่นเอง เมื่ออบออกมาความหอมกรุ่นจากเตา และความมันสวยบนหน้าขนมที่มาจากไขมันที่มีในขนมเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจมากๆ แต่ถ้าอยากจะเก็บไว้กินแล้วเอาไปแช่ในตู้เย็น สักพักหน้าตาของขนมพวกนี้จะเปลี่ยนไป เริ่มขุ่น ขนมจะแข็งจับตัวเป็นก้อน นั่นเพราะไขมันจากเนย นม เป็นไขขึ้นมา กลิ่นของเตาอบก็หายไปด้วย หน้าตาขนมก็ไม่ชวนให้อยากจะทาน