นวัตกรรม: แปลงกุ้งก้ามกรามเพศผู้ให้ตั้งท้องได้ หวังเพิ่มปริมาณและราคา

มหิดล. แปลงกุ้งก้ามกรามเพศผู้ให้ตั้งท้องได้ หวังเพิ่มปริมาณและราคา

มหาวิทยาลัยมหิดล คิดค้นกระบวนการใหม่ แปลงเพศกุ้งก้ามกรามโดยใช้สารประกอบชีวโมเลกุล ทำให้กุ้งก้ามกรามเพศผู้สามารถตั้งท้องได้ โดยในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสถาบันบริหารจัดการเทคโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล(iNT) เปิดตัว แม่พันธุ์กุ้งก้ามกรามต้นแบบ(MU1) ซึ่งเป็นกุ้งก้ามกรามเพศผู้ที่ปลอดโรค สุขภาพดี โตเร็ว ที่ผ่านการกระตุ้นให้มีเพศสภาพภายนอกเป็นเพศเมียด้วยสารประกอบชีวโมเลกุล ที่มีองค์ประกอบหลักคือ อาร์เอ็นเอสายคู่ที่มีความจำเพาะและยับยั้งการแสดงออกของยีนไอเอจี(Insulin-like androgenic gland specific factor: IAG) ทำให้กุ้งก้ามกรามเพศผู้กลายเป็นเพศเมียในลักษณะที่เรียกว่า แม่กุ้งแปลงเพศ(Neo-female) เมื่อนำไปผสมกับพ่อพันธุ์กุ้ง จะได้ลูกกุ้งเพศผู้ในอัตราสูงถึง 90% และโตเร็วกว่าสายพันธุ์ปกติ ตรงต่อความต้องการของตลาด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวง่ายกว่ากระบวนการผลิตกุ้งเพศผู้แบบดั้งเดิม ที่ต้องใช้ความชำนาญสูง โดยปัจจุบันงานวิจัยดังกล่าวได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเป็นอย่างมาก
                ทั้งนี้ กุ้งก้ามกรามเพศผู้จะมีขนาดใหญ่ โตเร็ว และมีราคาสูงกว่ากุ้งเพศเมีย ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องการกุ้งก้ามกรามเพศผู้เป็นจำนวนมาก การเพิ่มสัดส่วนกุ้งก้ามกรามเพศผู้ในบ่อเลี้ยง จะส่งผลให้ปริมาณและราคาที่เกษตรกรได้รับเพิ่มสูงขึ้น

Credit: ข่าวเตือนภัย มกอช.